7 วิชามาร ผ่าทางตัน ในวันสมองงอแง

“โอ๊ยย! เดดไลน์มาจ่อแล้ว ทำไมไอเดียยังไม่มาบ้างวะ” – นี่คือสถานการณ์จริงที่นักออกแบบแอบบอกให้เราฟัง
วันนี้เราเลยจะมา แอบบอกนักออกแบบ ถึงวิชามารการผ่าทางตัน ให้งานเสร็จทันเดดไลน์ และเราจะได้ไม่ต้องโต้รุ่งให้กลายเป็นซอมบี้ 

คำเตือน* - วิชามารเป็นสารเสพติด อย่าคิดใช้บ่อย มีผลค่อยๆทำให้ขี้เกียจเค้นสมอง 

เรานำมาฝากถึง 7 วิธี ให้ครบสมกับเป็น Seven Sins วิชามารในการหาไอเดีย 


1.สุ่ม 

ระดับความมาร = 0.5 

ลองสุ่มมองหาไอเดียจากสิ่งของรอบๆตัว ซึ่งหลายครั้ง ไอเดียมักซุกซ่อนหลบอยู่ตามสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เราไม่ทันสังเกต เราอาจมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วได้ไอเดียจากไฟจราจร ทางม้าลาย หรือเห็นการแต่งกายแปลกๆจากคนที่เดินถนน อาจลองหยิบนิตยสารซักเล่ม พจนานุกรม ดิกชันนารี เปิดแบบไม่ตั้งใจ ได้หน้าไหน ลองดูที่หน้านั้น ลองอ่านประโยค ลองอ่านเต็มย่อหน้า ลองอ่านทั้งเล่ม…ตายๆทำงานไม่ทันพอดี หรือ ลองสุ่มกดไปที่ MV ซักอัน ตัวอย่างหนังซักเรื่อง แล้วตั้งโจทย์ในใจ เช่น จะดูแต่ตัวประกอบในฉากหลัง เราอาจได้พบที่มาของไอเดียใหม่ๆจากคำพูด หรือ จากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในสิ่งเหล่านั้น 


2.บิดมุมมอง 

ระดับความมาร = 1 

การบิดมุมมอง อาจเป็นการคิดแบบขั้วตรงข้าม หรือลองคิดให้หลุดกรอบจากเดิม เรียกว่าหาความเป็นไปได้จากสิ่งของตั้งต้นให้แตกต่างจากเดิม เช่น สมมติว่าบรีฟ ต้องการให้เราออกแบบโลโก้สำหรับไวน์ เราอาจตั้งต้นจากรูปทรงขององุ่น แล้วบิดมุมมองขององุ่นเดิมๆดูว่า ถ้ามันไม่เรียงเป็นทรงสามเหลี่ยมล่ะ ถ้ามันกลับหัวล่ะ ถ้าแต่ละลูกไม่เท่ากันล่ะ ถ้าแต่ละลูกมันเชื่อมต่อกันล่ะ ถ้ามันไล่สีล่ะ ถ้ามันละลายล่ะ ถ้ามันมีเพศล่ะ สุดท้ายเราอาจได้โลโก้ที่เป็นองุ่นในเส้นแถบเฉียง ที่หยดลงมาเป็นวง มองรวมๆเห็นเป็นแก้วไวน์ ก็เป็นได้ 


3.Mix & Match 

ระดับความมาร = 2 

เราจะเริ่มก้าวแตะๆเข้าสู่ด้านมืดมากขึ้น ด้วยการ Mix & Match นั่นคือหยิบจับทุกสิ่งที่หาได้มายำรวมกัน เพื่อสร้างเป็นไอเดีย โดยการไปหยิบจากตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย แล้วนำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เอาลวดลายนู้น มาผสมกับเทคนิคนี้ กับคู่สีแบบนั้น อาจจะได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมา ซึ่งอาจต่อยอดสร้างให้เป็นเทคนิคใหม่ติดตัวต่อไปได้เลย 


4.คุ้ยคลัง Stock Photo 

ระดับความมาร = 3 

เป็นวิธีที่ต้องทุ่มทุนกันหน่อย คือหาเลือกจากตาม Stock Photo มาใช้ เพราะว่าส่วนใหญ่ตามเว็บเหล่านี้ก็จะมีงานดีงานเทพ ซุกซ่อนรอให้เราไปเจอ บางอันก็แทบจะตอบโจทย์ดาวน์โหลดมาปรับใช้ได้เลย ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ช่วยเราประหยัดเงินซักเท่าไหร่ แต่ช่วยให้เราประหยัดเวลาไปได้มาก เพิ่มตารางให้รับงานได้มากขึ้นมาทดแทน แต่ก็ต้องคำนึงว่า การใช้ชิ้นงานเหล่านี้จะทำให้เราเสียซิกเนเจอร์ของเราลงไป 


5.ของฟรี ยังมีในโลก(ออนไลน์) 

ระดับความมาร = 3-5 

มาร กว่าวิธีก่อนหน้า ก็ต้องวิธีนี้เลยสำหรับคนไม่อยากลงทุน ไปทัวร์ตามเว็บที่เค้ามีของแจกฟรี ซึ่งในบทความตอนเก่าๆ เราก็เคยชี้ทางไว้หลายอัน ซึ่งเราก็จำเป็นต้องใช้ความละเอียดในการเลือก เพราะชิ้นงานเหล่านี้บางทีก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน เช่นฟอนต์ฟรีที่สวยงาม อาจไม่ครอบคลุมถึงตัวเลขและเครื่องหมายต่างๆ หรือ Vector ฟรี อาจมีรายละเอียดองศาที่ไม่เรียบร้อย เราต้องมาดราฟต์เองใหม่ เป็นการฝึกสกิลเก็บรายละเอียดไปในตัว 


6.ขุดกรุ 

ระดับความมาร = 4 

กลับไปขุดกรุ Reuse สิ่งที่เราเคยทำแล้วไม่ถูกเลือกในอดีต มาปัดฝุ่นขัดสีฉวีวรรณให้เข้ากับโจทย์ใหม่ ซึ่งพอจะช่วยทุ่นแรงทุ่นสมองให้กับช่วงเวลาเร่งด่วนใกล้เส้นตายได้ เพราะบางครั้งงานที่ไม่ถูกเลือกไม่ใช่ว่าเป็นงานที่ไม่ดี แต่อาจเป็นแค่งานที่ไม่ถูกใจลูกค้าเจ้าหนึ่ง ซึ่งอาจจะถูกใจลูกค้าอีกเจ้าหนึ่งก็เป็นได้ แต่ต้องให้มั่นใจว่าเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพ และไม่เคยใช้กับที่ไหนมาก่อน 


7.ฉกไอเดียจากเว็บยอดนิยม

ระดับความมาร = 0-5 

ปาโบล ปิกัสโซ่ กล่าวไว้ว่า “Good artists copy, Great artists steal” แปลได้ว่า “ศิลปินชั้นดีลอกเลียน ศิลปินชั้นเทพขโมย” สิ่งที่เราจะทำในเวลาที่เส้นตายบีบรัดหัวใจแบบนี้ก็คือ การเข้าไปดูงานออกแบบตามเว็บต่างๆ เช่น Pinterest แล้วทำการขออันเชิญศิลปินชั้นเทพมาประทับทรง แต่ต้องทำความเข้าใจว่า การขโมยในที่นี้ ไม่ใช่การไปเอาผลงานของคนอื่นตามเว็บมาใช้ แต่เราจะขอเข้าไปดู เพื่อเอาสูบวัตถุดิบทางความคิด เอาแรงบันดาลใจ เอามุมมอง เอาเทคนิค มาพัฒนา
ต่อยอดให้เป็นของเรา พัฒนาจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม พัฒนาจนเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ให้เราพูดได้ว่าเป็นเจ้าของมันได้เต็มตัว 

ถ้าทำสำเร็จจนถึงขั้นนี้ได้ ระดับความมารจาก 5 ก็จะเหลือแค่ 0 แถมได้วิชาความรู้ติดตัวไปด้วย 


ขอกระซิบอีกทีว่าเทคนิคเหล่านี้ ควรใช้เฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน คับขัน วันที่สมองประท้วงเท่านั้นนะ เดี๋ยวลูกค้ารู้ทัน 

และถ้าอยากจะแชร์ไปให้เพื่อน ก็กดแชร์เบาๆอย่ากระโตกกระตาก

ขอให้ทุกคนรอดผ่านพ้นวันที่สมองงอแงไปได้ด้วยดี







Related Pages






Comments