ฝึก (Graphic) ยังไง ให้เป็นยอดฝีมือ (ตอนที่ 1)

ผมโดนน้องๆเพื่อนๆ ถามบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาสอนหรือไปบรรยายที่ไหน ว่าทำยังถึงจะเก่ง มันเป็นคำถามที่ตอบในหนึ่งนาทีได้ยาก ส่วนใหญ่จึงจะตอบไปแค่บาง ข้อหลักๆ ไม่เคยได้ตอบแบบมานั่งว่ากันยาวๆ ลิสต์ออกมาเป็นข้อๆซะที ด้วยช่วงนี้ยังเห่อเว็บ CraftFig.co เป็นอันมากอยู่ ฮ่าๆ เลยอยากลองมาเล่าเป็นข้อๆ ทีละเรื่องให้อ่าน จากประสบการณ์ของผมเอง มาดูกันครับ ว่าฝึกยังไงให้เก่ง เยี่ยงยอดฝีมือ หรือจะโดดไปอ่าน ตอนที่ 2 ก่อนก็ได้คร่าบ


ฝึกตา การฝึกที่ยากที่สุด 

หัวข้อที่ผมชอบที่จะพูดกับคนที่มาถามเรื่องนี้บ่อยที่สุด ที่ใช้คำว่าฝึกตา ผมว่ามันมองเห็นภาพดี  จริงๆมันหมายถึงการฝึกมอง มองจนรู้ว่างานไหนคืองานที่ดีนั่นเอง เรื่องนี้ใช้ได้กับงานทุกสายเลย เช่นเป็นพ่อครัวแต่ไม่ฝึกลิ้น คือกินแล้วไม่รู้ว่าอันไหนอร่อย อันไหนแย่ จะทำอาหารที่อร่อยออกมาได้อย่างไร เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ยืนยันเลยว่ายากก ต้องอาศัยการดูอย่างเดียว เสพงานให้เยอะ ติดตามงานตามเว็บต่างๆ หนังสือ บล็อค ทุกวัน ดูงานประกวด ที่แพ้ และชนะ มองหาความแตกต่าง ระหว่างงานที่ดี และงานที่แย่ให้ได้ ถ้ามองเป็นแล้ว อะไรๆก็ง่ายลงแล้วหละ 


ลอกเลียนงาน ทางลัดแห่งการเรียนรู้ 

ขึ้นชื่อว่าลอก หลายคนคงร้องยี๋ มองเป็นสิ่งที่เลวร้าย ไม่ควรทำอย่างยิ่งในการฝึกฝนตนเองสำหรับงานดีไซน์ แต่ในมุมมองของผมแล้ว การลอกเป็นการเรียนรู้ที่ถูก เร็ว และได้ความเข้าใจในการสร้างงานมากมาย เพียงแต่ควรลอกให้เหมาะสม ไม่ใช้เพื่อการสร้างประโยชน์โดยตรงเช่นลอกไปส่งลูกค้า ลอกขาย แต่ถ้าลอกเพื่อการเรียนรู้ รับรองเลยว่า เป็นเร็วเป็นใว 

ภาพประกอบน่ารักๆ โดย MBE Dribbble
ภาพประกอบทดลองเขียนตาม โดย บัวตูม


แดชบอร์ด กราฟ โดย Mike Creative Mints
แดชบอร์ด ทดลองเขียน กราฟตาม โดย บัวตูม

จนถึงวันนี้ผมก็ยังมองว่ามันเป็นการพัฒนาตัวเองแบบหนึ่ง เวลาเจองานอะไรที่รู้สึก ว้าว ก็ยังคงทดลองเขียนตาม อยู่บ่อยๆ เมื่อลอกงานในปริมาณมากเข้า เราจะมีความคล่อง ความเข้าใจในการสร้างงาน จะค่อยๆตกผลึกความเป็นเรา จนสร้างงานในแบบของเราได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มีใครมีรักแรกแบบเดียวกัน ไม่มีใครลอกเลียนความเป็นตัวตนใครได้ ลองทำกันดูนะครับ งานไหน อะไรว๊าว ลองหาวิธีทำตามเลย

 เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มีใครมีรักแรกแบบเดียวกัน ไม่มีใครลอกเลียนความเป็นตัวตนใครได้


ไม่มีทางลัด สำหรับความงาม

คนมักมองหาทางลัดในการสร้างงาน หาทางที่มันทำได้ใวไม่เปลืองแรง เช่นกดปุ่มเดียวได้งาน คัทเอาทออกมาเลย จริงๆแล้วคือมันไม่มีหนทางสั้นขนาดนั้น  กราฟิกโดยมาก ไม่เหมือน งานดีไซน์หรือศิลปะ บางแขนงที่สามารถใช้เวลาในการสร้างด้วยเวลาเสี้ยวนาทีได้ (ศิลปะพู่กันเซ็น, Caligraphy, Abstract Art) การฝึกงานกราฟิก จึงต้องอาศัยความใจเย็นประณีต และความอดทนอย่างมาก บางงานอาจจะต้องนั่งดัดพาธ ใส่แสงเงาเป็นเวลานาน ความอดทนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกสร้างงานกราฟิกอย่างแท้จริง


เริ่มงานเดี๋ยวนี้ ไม่มีผลัด

จากการสังเกตทั้งตัวเอง และ นักเรียน ผมเห็นทุกครั้งว่าการเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยาก ก่อนจะเริ่มเขียนงานผมเองก็จะคิดเหมือนกันว่าจะทำดีมั้ย หรือไปเริ่มพรุ่งนี้ดี นักเรียนเอง เวลาที่ถูกสั่งงาน ก็จะบอกว่า โหยทำไม่ได้หรอก ยากจัง จะดีหรอ แต่ทั้งผมเองและนักเรียน เมื่อได้ลองจรดปากกาจุดแรกแล้ว คราวนี้แหละ เหมือนกันเปี๊ยบ คือมันจะหยุดไม่ได้ มันสนุกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่อีกโลก จังหวะนี้ต่อให้หมดชั่วโมงเรียนแล้ว ก็ไม่ค่อยจะมีใครยอม เลิกเขียนเลยจริงๆ นั่นแปลว่าอย่าประณีประนอมตัวเอง อย่ายอมตัวเองให้ไม่เริ่มงาน เพราะจริงๆแล้วมีแค่ตอนเริ่มเท่านั้นแหละที่ยาก

ยังมีเรื่องน่าสนใจ ในการฝึกฝน อยู่อีกหลายข้อ เดิมทีตั้งใจจะเขียนให้หมดในครั้งเดียว แต่ดูจากลิสต์แล้วน่าจะยังต้องใช้เวลาเขียนอีกนาน จึงขออนุญาตไปต่อตอน2  ในครั้งหน้านะครับ หวังว่าตอนที่1 จะพอช่วยสร้างแรงบันดาลใจและ เป็นประโยชน์ต่อการ ฝึก งานกราฟิกอยู่บ้าง ฝากแชร์ให้คนอื่นๆได้ ลองอ่านด้วยนะครับ ถ้าถูกใจกัน ตามไปอ่าน ตอนที่ 2 ได้เลยค้าบบ

buatoom







Related Pages






Comments