10 นิสัย อัพสกิล "ดีไซน์" ให้แข็งแกร่ง

ดีไซน์เนอร์ หรือ นักออกแบบ เป็นอาชีพที่ไม่อยู่แค่ในเวลางาน ที่เมื่อถึงเวลาเลิกงาน เราก็สามารถเลิกทำ เลิกเป็นนักออกแบบได้ แต่เพราะการจะ ‘เป็น’ นักออกแบบ มันได้ถูกหลอมรวมอยู่ในวิถีชีวิต ความคิด กิจวัตร ประสบการณ์และการมองโลกของเรา ซึ่งจะถูกแสดงออกให้เห็นผ่านชิ้นงานต่างๆ 

เมื่อนิสัยส่วนตัวและกิจวัตร มีผลโดยตรงกับงานออกแบบของเรา วันนี้ทาง Craft Fig. จึงอยากขอพูดถึง 10 นิสัย ที่จะช่วยอัพสกิลการออกแบบ
ถ้าใครมีครบแล้ว หรือ ฝึกตัวเองได้ครบ ก็จะช่วยพัฒนาสกิลการออกแบบให้กว้างขวาง และ แข็งแกร่งมากขึ้นอย่างแน่นอน
บทความนี้ตัวหนังสืออาจจะเยอะ แต่ประโยชน์ก็เยอะตามด้วยเช่นกัน 


1.สังเกต และ ตั้งคำถามกับทุกอย่างที่เจอ

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

นิสัยช่างสังเกตนี่เรียกได้ว่าเป็นนิสัยติดตัวหลักๆที่นักออกแบบทุกคนต้องมี เพราะการมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่ทันเห็นแม้จะมองในสิ่งเดียวกัน ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้น แล้วจะนำไปสู่การใส่ใจ เกิดการตั้งคำถาม นำไปสู่กระบวนการคิดถึงที่มาที่ไปของมัน อาจนำเราไปเจอกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องราวเบื้องหลังที่สวยงามของมัน ถ้าเรานำมันมาใช้ในชิ้นงาน ก็จะทำให้เพิ่มความน่าสนใจให้งานของเรา มีรายละเอียด มีเรื่องราว และมีคุณค่ามากขึ้น 


2.หูไวตาไว

ติดตามข่าวสาร อัพเดตสถานการณ์อยู่เสมอ ใครกำลังทำอะไรที่ไหน อย่างไร โลกหมุนไปถึงไหน นักออกแบบต้องหูไวตาไว ควรอย่างมากที่จะต้องรู้ก่อนใคร เพราะงานของนักออกแบบบ่อยครั้งที่เกี่ยวพันกับการแข่งขันทางธุรกิจ การรู้ทันเหตุการณ์จะทำให้เราสามารถออกแบบเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้

ตัวอย่างเช่น กรณีสายการบิน United ลากผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน มีงานออกแบบสนุกๆล้อเลียนสถานการณ์ออกมามากมาย ซึ่งอันหนึ่งเป็นโลโก้ของสายการบิน Southwest พร้อมสโลแกนใหม่ว่า “We beat our competitors. Not you” แปลได้ว่า “เราฟาดฟันกับคู่แข่ง ไม่ใช่ฟาดคุณ” ถึงแม้ว่าทางสายการบินจะชี้แจงว่าภาพนี้ไม่ได้ออกมาจากทางสายการบิน แต่ก็ได้รับความสนใจและเกิดการจดจำไปไม่ใช่น้อย 


3.ตามติดเทคโนโลยี

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เครื่องมือแห่งอนาคตมีมาให้เห็นกันไม่ขาดสาย ไหนจะรวมถึงซอฟต์แวร์ต่างๆที่ต้องอัพเดตกันให้ทันอีก แล้วนักออกแบบอย่างเราจะยอมปล่อยให้ตัวเองตกยุคเป็นไดโนเสาร์ได้อย่างไร คนพันธุ์เรามันต้องทันสมัยอยู่เสมอ เผลอๆบางครั้งต้องคิดล้ำกว่าสมัยเสียด้วยซ้ำ การที่เราตามทันเทคโนโลยี ทำให้เรารู้จัก รู้ถึงการทำงานของมัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบที่อาจต้องเกี่ยวข้องกับมันในภายภาคหน้า ตัวอย่างเช่น การอัพเดตขนาดสัดส่วนของภาพที่สามารถโพสต์ได้ ใน เฟซบุ๊ค ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

การตามทันซอฟต์แวร์ใหม่ๆ หรืออัพเดตให้เป็นรุ่นล่าสุด ก็ช่วยอำนวยความสะดวกและลดเวลาการทำงานให้กับนักออกแบบได้ เพราะ ซอฟต์แวร์เหล่านี้ ล้วนถูกพัฒนาให้ทำงานได้ดีขึ้นตลอดเวลา ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกวันของผู้ใช้งาน ทั้งฟังก์ชั่นเดิมที่ดีขึ้น ฟีเจอร์ใหม่ๆที่ทำอะไรได้มากขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างซอฟต์แวร์ต่างๆที่สะดวกขึ้น ยิ่งพัฒนาให้ใช้งานง่าย ก็ยิ่งมีผู้ใช้งานมากขึ้น หากนักออกแบบอย่างเราตามไม่ทัน ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีเพิ่มขึ้นทุกวันได้ 


4.พาตัวเองไปเจออะไรใหม่ๆบ้าง

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

พูดง่ายๆว่าเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง การที่นักออกแบบอยู่ในที่เดิมๆ สภาพแวดล้อมเดิมๆ จะเกิดเป็นความเคยชิน ทำให้ขาดการสังเกตสิ่งรอบตัว ขาดสิ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจใหม่ๆในการทำงาน 

เพราะความตื่นเต้นจะทำให้เราสังเกตทุกสิ่งที่แปลกตาใหม่ๆ นั่นจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้อย่างแน่นอน แค่ป้ายตารางเวลาในสถานีรถไฟ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้ในงานเราก็ได้ในสักวัน หรือถ้าหากเวลาไม่อำนวย แค่เปลี่ยนอิริยาบถ พักเดินออกไปในที่ที่เคยไป เราก็อาจพบกับเรื่องราวใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ เหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน 

แล้วก็อย่าลืมว่า ถ้าเราได้ออกไปข้างนอก แต่สนใจแต่จอโทรศัพท์จนไม่ได้สังเกตโลกรอบตัว ก็ไม่เกิดประโยชน์ในการพาตัวเองไปเปลี่ยนสถานที่หรอกนะ 


5.อ่านให้เยอะ ดูให้เยอะ ศึกษาให้เยอะ

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

อ่านให้เยอะ ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบ แต่อ่านให้หลากหลาย เพราะแต่ละอย่างก็มีวิธีคิดที่ต่างกัน มีวิธีเขียนที่ต่างกัน หลายครั้งที่เราสะดุดใจกับวลีเดียวในหนังสือบางเล่ม เราอาจเคยได้ยินว่า ภาพ 1 ภาพ แทนคำได้ 1,000 คำ แต่บางครั้ง คำ 1 คำ ก็ทำให้เราเห็นภาพได้หลาย 1,000 ภาพ เช่นเดียวกัน ไม่เชื่อลองกูเกิลดูสิ 

ดูให้เยอะ ก็เป็นการอัพสกิลทางหนึ่ง เพราะเมื่อเราได้ดูงานที่ดี งานที่แปลก งานที่ใหม่ จนรู้จักว่างานแบบไหนเรียกว่าดี งานแบบไหนสวย มันก็ส่งผลกับการสร้างงานของเราได้เช่นกัน การดูแล้วจำองค์ประกอบก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าดูให้ลึก เอางานมาจำแนก วิเคราะห์ ศึกษาให้เห็นถึงวิธีคิด วิธีทำ เราก็จะได้สกิลประดับตัวเพิ่มไปอีก 

ศึกษาให้เยอะ ใช้เวลาว่างเล็กน้อยในแต่ละวัน หาเทคนิคใหม่ๆเพิ่มเติม หรือศึกษาขั้นตอนการทำงานจากงานของคนอื่น ก็อาจพบเคล็ดลับที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ได้ หรือแม้แต่การลงคอร์สเรียน ทั้งแบบออนไลน์ และ โรงเรียน ก็เป็นการพัฒนาตัวเองขึ้นทั้งนั้น 



6.เพิ่มความรู้ด้านจิตวิทยา

เราอาจคุ้นเคยเรื่องจิตวิทยาจากการเลือกสีในงานออกแบบอยู่แล้ว หลายคนคงสงสัยว่า แล้วการเพิ่มความรู้เรื่องจิตวิทยา มันจำเป็นต้องเป็นนิสัยด้วยเหรอ มันจะเป็นนิสัยได้อย่างไร ขอตอบว่า จิตวิทยา เป็นเรื่องของจิตใจ การเข้าใจความคิด ความรู้สึก ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปได้ตามแต่บุคคลที่เราพบ เรียกว่าเป็นการฝึกนิสัยในการอ่านนิสัย คนแต่ละช่วงอายุก็มีพื้นฐานความคิดไม่เหมือนกัน

อย่างที่เราชอบเห็นพวกคำจำกัดความเป็น Gen X , Gen Y , Gen Z , Gen Alpha ซึ่งถ้าเราหมั่นฝึกเรื่องนี้อยู่เสมอ เราจะสามารถที่จะจับความคิด ความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทำให้เราสามารถออกแบบให้ตอบสนองผู้ว่าจ้างได้ตรงใจมากขึ้น เหมือนดั่งอ่านใจเค้ามา และยิ่งในการออกแบบแบรนด์ เรื่องจิตวิทยาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทุกองค์ประกอบเพื่อที่จะทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น 



7.พูดคุยกับผู้คนให้มาก

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

การพูดคุยกับผู้คนในที่นี้ เราเน้นไปที่การนั่งคุยพบหน้ากันกับตัวคนจริงๆ ไม่นับการแชตออนไลน์ เพราะการได้นั่งคุย เราจะได้สังเกตเห็นท่าทาง อากัปกิริยา ของอีกฝ่าย (ซึ่งจะส่งเสริมกับนิสัยในข้อที่1.และ6.) เราจะได้เห็นว่า คนแต่ละคนมีบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างไร มีความคิดความชอบที่แตกต่างกันอย่างไร อะไรอยู่ในความสนใจของพวกเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อถึงเวลาที่เราต้องออกแบบในสิ่งที่มีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่ากลุ่มคนแบบนี้ ควรใช้ภาษาอย่างไรในการสื่อสาร ฟอนต์ลักษณะไหน สีอย่างไร กราฟิกสไตล์ใด ต้องให้ข้อมูลมากแค่ไหน 




8.ฝึกเรียบเรียงความคิดด้วยการเขียนบล็อก

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

การจดบันทึก ก็เป็นอีกนิสัยหนึ่งที่นักออกแบบมักทำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในรูปแบบ ตัวอักษร หรือการวาดภาพ ซึ่งโดยมากจะเป็นการบันทึก แนวความคิด ไอเดีย เพียงสั้นๆ เพื่อความเข้าใจของตัวเองเท่านั้น แต่ในเมื่อนักออกแบบ ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่ใช้ชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง และจำเป็นต้องพบปะพูดคุยกับผู้อื่น รวมถึงต้องขาย ต้องนำเสนอไอเดียให้บุคคลอื่นๆได้ฟังตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกเรื่องการสื่อสารให้มากๆ

การเขียนบล็อกเป็นทางหนึ่ง ที่จะช่วยฝึกนิสัยในการจดบันทึกให้เป็นเรื่องราว มีการคิดหัวเรื่องที่น่าสนใจ ต้องเรียบเรียงลำดับใจความสำคัญที่ต้องการจะบอกเล่า ถ้ามีการเขียนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย จะช่วยให้การนำเสนอไอเดียต่อผู้อื่น มีความน่าสนใจและเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น สามารถพูดเข้าประเด็นได้โดยไม่เวิ่นเว้อ มีการตรวจทานอย่างถี่ถ้วนก่อนเผยแพร่ออกไป และนอกจากนั้นแล้ว บล็อก ยังเป็นที่รวบรวมผลงานของเรา ซึ่งสามารถนำไปใช้โปรโมตต่อได้อีกด้วย 



9.คอมเมนต์ผลงานของตัวเอง

การคอมเมนต์งานของตนเองเป็นนิสัยที่ทำได้ยาก ต้องทำโดยสวมสายตาที่เป็นกลาง ไม่อวย ไม่อคติ เพื่อให้เรามองเห็นจุดรั่วที่บกพร่องในงานของตัวเอง เมื่อเรามองเห็นมันเราก็จะสามารถอุดรูนั้นได้ แต่ถ้าจะให้ผลดียิ่งขึ้น เราควรฝึกที่จะมองงานของเรา โดยใช้สายตาของกลุ่มเป้าหมายของเราในการคอมเมนต์ ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของเราดีในระดับหนึ่ง(ก็จากนิสัยในข้อ6. อีกนั่นแหละ) ซึ่งการคอมเมนต์งานของตัวเองนั้น จะฝึกให้เราได้วิเคราะห์ และวิจารณ์ได้เป็น(นิสัยในข้อ8. มีส่วนช่วยตรงนี้) ส่งผลให้เกิดการพัฒนางานของตัวเองอย่างต่อเนื่อง 

แต่ก็ต้องระวัง เพราะการติดนิสัยคอมเมนต์งานของตัวเอง อาจส่งผลให้เราทำงานได้ช้าลง เพราะในระหว่างทำ เราจะเบรกตัวเองอยู่ตลอด ทำให้งานสะดุด ควรฝึกแยกสายตานั้นออกมาใช้เมื่อทำภาพรวมของงานเสร็จก่อน และควรระวังอีกข้อหนึ่ง อย่าติดนิสัยไปคอมเมนต์งานของคนอื่นที่เค้าไม่ได้ขอให้เราคอมเมนต์ 



10.ชาเลนจ์ตัวเองเสมอ

ขอบคุณภาพประกอบสวยๆจาก streetwill.co

นิสัยนี้ จะทำให้เราเป็นคนแอคทีฟ และพัฒนาได้เร็วที่สุด เพราะนักออกแบบอย่างเรามักเรียนรู้จากการปฏิบัติ ซึ่งการสร้างชาเลนจ์ให้ตัวเองนั้น อาจเป็นการฝึกตั้งโจทย์ในการฝึกเทคนิค การสมมติโปรเจ็คต์จากลูกค้า การหา side project ทำส่วนตัวนอกเวลางาน หรือการแข่งกับเวลา ไม่ว่าชาเลนจ์จะเป็นแบบไหน มันก็เป็นการเติมเชื้อไฟให้ตัวเราเองสนุกกับงานออกแบบได้มากขึ้น ปั๊มเลเวลสกิลได้อย่างไม่น่าเบื่อ แถมยังสามารถชักชวนเพื่อนร่วมอาชีพมาร่วมสนุกหรือแข่งกันได้อีก ได้ประโยชน์ไปพร้อมกันแบบหมู่คณะ พอรู้ตัวอีกทีก็ได้สกิลใหม่ติดตัวจนนับไม่ไหวแน่ 




จะเห็นได้ว่านิสัยทั้ง 10 นี้ สามารถฝึกได้ไม่ยาก แต่ให้ผลดีมีประโยชน์มากเหลือเกิน สามารถทำได้ทุกวันทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ให้มันติดตัวไปตลอดและพัฒนามันขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งหลายๆข้อเป็นนิสัยที่ต่อเนื่องกัน พอเราได้นิสัยหนึ่งก็จะมีอันอื่นๆตามมาเอง

ก็หวังว่าเราจะเป็นนักออกแบบที่แข็งแกร่งดั่งภูผา มีคลังความคิด มีไอเดียสนับสนุน พร้อมสกิลแน่นปึ้ก อย่างแน่นอน ใครมีนิสัยไหนเพิ่มเติมอยากแนะนำให้เพื่อนๆได้รู้ ก็บอกมาในคอมเมนต์ได้เลยนะครับ












Comments